ตอกเสาเข็มไปแล้วทำไมบ้านยังทรุด?

หลายๆ ท่านที่เลือกใช้เสาเข็มไมโครไพล์ มาต่อเติมบ้านหรือโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเสาเข็มสปันไมโครไพล์ เสาเข็มไอไมโครไพล์หรือเสาเข็มสแควร์ไมโครไพล์ ก็ตาม ส่วนมากจะเลือกของถูกไว้ก่อน โดยที่ไม่ได้ศึกษาเลยว่าเสาเข็มจะรับน้ำหนักตามที่ผู้ออกแบบ ออกแบบไว้ได้รึเปล่า และวิธีการตอกเสาเข็มไมโครไพล์นั้นเขาตอกกันยังไง มีอะไรที่ต้องรู้เพิ่มเติมบ้าง

บทความนี้จะจะเป็นแนวทางที่จะช่วยให้ทุกท่าน ไปดูวิธีการตอกเสาเข็มไมโครไพล์กันว่า วิธีการตอกเสาเข็มแบบที่เป็นมืออาชีพจริงๆ เขาตอกเสาเข็มกันยังไง จะต้องดูอะไรบ้าง

  1. สิ่งที่สำคัญที่สุดในการตอกเสาเข็มไมโครไพล์ คือน้ำหนักของลูกตุ้มที่ใช้ตอกเสาเข็ม  แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าลูกตุ้มที่เราเห็นนั้น จริงๆ แล้วมันหนักเท่าไหร่ ตรงตามรายการคำนวณหรือไม่ คร่าวๆ ก็คือใช้สูตรคำนวณ (กว้าง*ยาว*สูง*.0079) หน่วยเป็นเซนติเมตรนะครับ เมื่อคูณกันออกมาแล้วผลลัพธ์ที่ได้จะมีหน่วยเป็นกิโลกรัม ถ้าจะแปลงเป็นตันก็หารด้วย 1000
    แต่วิธีนี้จะใช้ไม่ค่อยได้ผลแล้วในปัจจุบัน เนื่องจากมีผู้รับเหมาตอกเสาเข็มบางรายหัวใส ใส่เหล็กแค่ครึ่งเดียวของความสูงของลูกตุ้มทำให้น้ำหนักของลูกตุ้มหายไปมากพอสมควร ทำให้เวลาตอกเสาเข็ม ความลึกที่ได้จะไม่ถึงชั้นดินดานจริงๆ แต่ได้โบว์เค้าแล้วตามรายการคำนวณเลย
    ฉะนั้นแล้ววิธีที่ได้ผลที่ดีที่สุดคือเอาลูกตุ้มไปชั่งเลยครับหรือให้ผู้รับเหมาเตรียมตาชั่งมาด้วย แต่ตาชั่งต้องมีผลสอบเทียบ (คาลิเบรท) มาด้วย

2. เมื่อลูกตุ้มได้น้ำหนักตามต้องการแล้ว ต่อมาที่ต้องดูคือระยะยกตุ้มตอนเช็คโบว์เค้า แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าต้องยกเท่าไหร่ ให้ขอดูรายการคำนวณครับ ในนั้นจะมีบอกหมดเลย ว่าเสาเข็มอะไร หน้าตัดเท่าไหร่ น้ำหนักลูกตุ้มที่จะใช้ตอกควรหนักเท่าไหร่ ระยะยกตอนเช็คโบว์เค้าเท่าไหร่ ถ้าเรากะระยะด้วยสายตาไม่ถูก ให้ใช้ตลับเมตรวัดเลยครับ

3. ปั้นจั่นมีการยึดหรือไม่ หน้าตะเกียบได้ดิ่งระดับน้ำไหม ทำใมถึงต้องยึดตัวปั้นจั่นให้อยู่กับที่ไม่ให้ตัวปั้นจั่นขยับได้เลย เพราะการตอกเสาเข็ม ไม่ว่าจะเป็นเสาเข็มขนาดใหญ่ ยาว 9 -12 เมตร หรือเสาเข็มไมโครไพล์ยาว 1.5 เมตรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดก็คือน้ำหนักลูกตุ้มนั้นเอง แต่เสาเข็มไมโครไพล์นั้น น้ำหนักตุ้มจะน้อยกว่าลูกตุ้มของเสาเข็มใหญ่ทำให้เวลาตอกนั้นจะยกลูกตุ้มตอกมากกว่าเสาเข็มใหญ่ ในการตอกเสาเข็มไมโครไพล์นั้น 6 ท่อนแรกหรือ 9 เมตรแรก สำหรับกรุงเทพและปริมณฑล อาจจะยกลูกตุ้ม ไม่กี่ทีก็ลงแล้ว แต่หลังจากนั้นดินจะเริ่มมีแรงต้านทานแรงเฉือนที่เกิดขึ้นจากแรงเสียดทานระหว่าง พื้นที่ผิวสัมผัสของเสาเข็มและดินโดยรอบ ศัพท์ทางวิศวกรรม จะเรียกแรงนี้ว่า skin friction pile ทำให้เวลาตอกเสาเข็มไมโครไพล์ต้องยกลูกตุ้มบ่อยขึ้นถี่ขึ้น อาจจะมากถึง 100 – 500 ครั้ง ใน 1 ท่อน ที่ความยาว 1.5 เมตร สิ่งที่ตามมาจากนั้นก็คือ เมื่อลูกตุ้มตกกระทบกับเสาเข็มถี่ๆ แล้วเมื่อไม่ยึดปั้นจั่นจะทำให้ปั้นจั่นเคลื่อนตัว ทำให้เสาเข็มหนีศูนย์ เยื้องศูนย์ เสาเข็มท่อนต่อไปที่จะนำมาต่อก็ไม่ตรง ไม่ได้ระดับน้ำ หน้าตัดที่สัมผัสกันระหว่างท่อนต่อท่อนก็ไม่สัมผัสกันแนบสนิท เกิดระยะห่างระหว่างเสาเข็มที่รอยต่อ ปัญหาที่ตามมาก็คือเสาเข็มเยื้องศูนย์ และไม่สามารถตอกถึงชั้นดินดานได้เลย เสาเข็มจะแตกก่อน เพราะน้ำหนักที่กดลงมาไม่กระจายสม่ำเสมอกัน ลงแค่ครึ่งเดียวของเสาเข็ม

4. การเชื่อมต่อเสาเข็ม เป็นสิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างของการตอกเสาเข็มไมโครไพล์ บางโปรเจคถึงกับต้องทดสอบช่างเชื่อมก่อนเป็นอันดับแรก เช่น ปตท. ไออาร์พีซี ฯ เพราะเสาเข็มชนิดนี้มีความยาวแค่ 1.5 เมตรต่อ 1 ท่อน ในการตอกเสาเข็ม 1 ต้นที่ความยาว 21 เมตร จะต้องใช้เสาเข็มไมโครไพล์ต่อกันถึง 14 ท่อน และจะต้องทำการเชื่อมต่อกันถึง 13 ครั้ง และการเชื่อมต่อเสาเข็มจะต้องเชื่อมต่อโดยรอบไม่มีการเว้นระยะ การทดสอบรอยเชื่อมมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธีคือ

  • ดูด้วยตา ให้เคาะสแลคออกก่อนแล้วดูรอยเชื่อมว่ามีรอยขาดตรงไหนบ้าง ตรงไหนเชื่อมไม่เต็มบ้าง
  • ใช้เครื่องมือช่วย ไปหาชื้อชุด PT Test มาใช้ การทำ PT มีชื่อเต็มๆว่า Penetrant testing ซึ่งหากแปลตรงตัวแปลว่า การทดสอบความบกพร่องของเนื้อวัสดุโดยการใช้สารแทรกซึม บางทีอาจจะได้ยินในชื่ออื่นเช่น Dye penetrant inspection (DP) หรือ Liquid Penetrate Inspection (LPI)
    ซึ่งหลักการคือ สารแทรกซึมนั้นสามารถซึมเข้ารูหรือที่แคบๆที่เป็นรอยร้าวขนาดเล็กได้ ซึ่งสามารถใช้ได้ดีกับชิ้นงานที่เป็นโลหะโดยจะใช้น้ำยาแทรกซึมต่างๆครับ
    การทำ PT ถือเป็นกระบวนการทดสอบแบบไม่ทำลาย หรือ NDT (Non-destructive testing) วิธีหนึ่งครับ ซึ่งกระบวนการตรวจสอบแบบ PT นี้ถือเป็นวิธีนิยมใช้มากที่สุด

5. สุดท้ายคือการเช็คว่าเสาเข็มต้นที่ตอกไปแล้วนั้นสามารถรับน้ำหนักได้ตามที่ออกแบบไว้ได้หรือไม่ สามารถทำได้ 2 วิธีคือ

  • เช็คโบว์เค้า ตามรายการคำนวณ ว่าระยะยกที่เท่าไหร่กี่เซนติเมตร โบว์เท่าไหร่กี่เซนติเมตร
  • ทำ Dynamic Load Test คือจ้างบริษัทที่รับทดสอบเสาเข็มโดยเฉพาะมาทดสอบเลย วิธีนี้เราแนะนำให้ทุกท่านควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะท่านจะรู้เดี๋ยวนั้นเลยว่าเสาเข็มที่ท่านเลือกใช้และตอกไปแล้วนั้นรับน้ำหนักได้เท่าไหร่และถ้ารับไม่ได้จะได้แก้ไขเดี๋ยวนั้นเลย อาจจะต้องออกแบบเสาเข็มใหม่หรืออาจจะต้องตอกเสาเข็มแซมเป็น F2 ดีกว่ามานั่งเสียใจภายหลัง ปัจจุบันนี้ค่าทดสอบเสาเข็มแบบนี้ราคาไม่สูงมากนัก

Leave a Reply