ท่านสถาปนิกและวิศวกรโครงสร้างที่รัก ในการออกแบบบันไดของอาคารที่กฎหมายกำหนดว่า จะต้องมีระบบอัดอากาศ ให้อากาศในช่องบันได มีความดันมากกว่าอากาศภายนอก เพื่อป้องกันไม่ให้ ควันไฟเข้าในช่องบันได ยามมีไฟไหม้ขึ้น ท่านกรุณาอย่าลืม ข้อกำหนดเตรียมไว้ ให้วิศวกรเครื่องกลดังต่อไปนี้ :
- ที่วางเครื่องอัดอากาศขนาดประมาณ 2.00 ด 3.00 เมตร สูง 2.00 เมตร
- ต้องมีช่องให้ติดต่อกันตลอดปล่องบันไดขนาดไม่ต่ำกว่า 0.75 ตารางเมตร ขอให้ท่านโชคดี และไม่ได้ใช้ ระบบนี้เทอญ (แม้เตรียมเอาไว้ก็ตาม)
ระบบอัดอากาศ (air-pressurized system) หมายถึง การใช้พัดลมที่อาจจะประกอบเข้ากับท่อลม หรือติดตั้งโดยตรงเข้ากับช่องบันไดหนีไฟ เพื่อใช้ส่งลมและสร้างความดันอากาศให้ได้ค่าตามที่กำหนด
- ระบบอัดอากาศแบบจุดเดียว (single-injection air-pressurized system) หมายถึง ชนิดของระบบควบคุมควันไฟที่มีการอัดอากาศเข้าในบันไดหนีไฟหรือโถงลิฟต์ดับเพลิงจากตำแหน่งเดียวหรือจากจุดเดียว
- ระบบอัดอากาศแบบหลายจุด (multiple-injection air-pressurized system) หมายถึง ชนิดของระบบควบคุมควันไฟที่มีการอัดอากาศเข้าในบันไดหนีไฟหรือโถงลิฟต์ดับเพลิงจากหลายตำแหน่งหรือจากหลายจุด


ข้อกำหนดทั่วไป
- อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 23 m ขึ้นไป ต้องมีบันไดหนีไฟที่สร้างด้วยวัสดุที่มีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่า 2 h สมบัติและการติดตั้งประตูและอุปกรณ์ประกอบต้องเป็นไปตาม มอก. 2541 เล่ม 2
- บันไดหนีไฟที่อยู่ภายในอาคารต้องป้องกันควันไฟด้วยวิธีธรรมชาติ โดยช่องระบายอากาศต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1.4 m2 ต่อหนึ่งชั้นที่เปิดสู่ภายนอกอาคารโดยตรง หรือด้วยวิธีทางกล โดยการติดตั้งระบบอัดอากาศเข้าไปในบันไดหนีไฟที่ทำงานโดยอัตโนมัติเมื่อเกิดเพลิงไหม้ ทำให้ความดันอากาศภายในบันไดหนีไฟสูงกว่าภายในอาคารในระดับเดียวกัน
- อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่พื้นอาคารส่วนที่ต่ำกว่าระดับถนนหน้าอาคารตั้งแต่ชั้นที่ 3 ลงไปหรือต่ำกว่าระดับถนนหน้าอาคารตั้งแต่ 7 m ลงไป ต้องจัดให้มีบันไดหนีไฟมีการปิดล้อมด้วยวัสดุทนไฟและมีระบบอัดอากาศเพื่อป้องกันควันไฟ
- ในกรณีที่บันไดหนีไฟเปลี่ยนแปลงตำแหน่งไม่ตรงกันตลอดความสูงของอาคารจำเป็นต้องมีทางปลอดควันเชื่อมระหว่างบันได ทางปลอดควันต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับบันไดหนีไฟ เช่น อัตราการทนไฟของวัสดุที่ใช้พื้นที่ช่องระบายอากาศมากพอหรือมีระบบอัดอากาศ
- โถงลิฟต์ดับเพลิงต้องป้องกันควันไฟเช่นเดียวกับบันไดหนีไฟภายในอาคารในข้อ 2
- ประตูบันไดหนีไฟและประตูโถงลิฟต์ดับเพลิงต้องมีอุปกรณ์ดึงประตูปิดกลับด้วยตัวเอง (door-closer) ต้องติดตั้งอุปกรณ์บาร์ผลักเปิดประตูฉุกเฉินและมีสลักยึดประตู (self latching) ให้ปิดสนิท โดยแรงที่ใช้ในการปลดสลักต้องไม่เกิน 67 N และแรงที่ใช้ในการผลักเปิดประตูต้องไม่เกิน 133 N
- กรณีที่ต้องการเปิดประตูค้างต้องมีอุปกรณ์ดึงเปิดด้วยแม่เหล็กไฟฟ้าและปิดอัตโนมัติเมื่ออุปกรณ์ตรวจจับเพลิงไหม้ทำงาน
- ระบบอัดอากาศเพื่อควบคุมควันไฟสำหรับบันไดหนีไฟและโถงลิฟต์ดับเพลิงต้องทำงานได้โดยอัตโนมัติ
- ต้องมีระบบไฟฟ้าสำรองฉุกเฉินจ่ายให้ระบบอัดอากาศทำงานได้ทันทีในระยะเวลาไม่เกิน 10 s เมื่อไฟฟ้าหลักของอาคารดับ